การประชุมวิชาการ NATGEN8

วันที่ 28-29 มีนาคม ในรูปแบบ virtual Conference


การประชุมทางวิชาการ

ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 8

The 8th Conference on Natural Resources, Geoinformation and Environment (NATGEN8)

โดย ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร

เกี่ยวกับ NATGEN

การประชุมวิชาการ ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เริ่มจัดประชุมขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 โดยภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม และได้จัดต่อเนื่องอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในครั้งที่ 2 และ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2560 และ 2561 ตามลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2562 ได้เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเพิ่มขึ้น คือ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งได้รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งที่ 4 ไปที่มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อการประชุม จาก “การประชุมวิชาการ ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม นเรศวร”(NUNatGEN) เป็น “การประชุมวิชาการ ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม”(NatGEN) ต่อมา ภาควิชาสารสนเทศภูมิศาสตร์คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือในการจัดประชุมวิชาการนี้ และได้รับเป็นเจ้าภาพในการประชุมวิชาการ ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (NatGen) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 – 7 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมเป็นสภาบันเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 สถาบัน และได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

ผลจากความร่วมมือและเครือข่ายที่ขยายตัวขึ้น ทำให้มีบทความทางวิชาการเข้าร่วมนำเสนอทั้งภาคบรรยาย และภาคโปสเตอร์ เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย และเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งการสร้างภาคีเครือข่ายของหน่วยงานที่มีการเรียนการสอนทางทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมด้วย นับเป็นความสำเร็จอันสืบเนื่องจากโครงการประชุมวิชาการดังกล่าว

ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะสถาบันริเริ่มจัดการประชุมวิชาการฯ มีความภาคภูมิใจที่มีการเจริญก้าวหน้าของการนำเสนอผลงานทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการจัดการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมโอกาสให้บุคลากร นักวิจัย และนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานที่มีคุณภาพระดับประเทศ ตลอดจนเกิดความร่วมมือกับสถาบันเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นในการประชุมทางวิชาการ “ทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 8 (The 8th Conference on Natural Resources, Geoinformation and Environment: NatGEN)” ทางภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นอีกวาระหนึ่ง โดยกำหนดจัดการประชุมในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในการประยุกต์ใช้สารสนเทศภูมิศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างแนวความคิดในการพัฒนางานวิจัย ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก่อาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยและผู้ที่สนใจ โดยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปรับตัว การฟื้นฟูหรือบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมลงของทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความยั่งยืนของการเกษตร สุขภาพและสาธารณสุข การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

จากความสำคัญดังกล่าว

ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้รับเป็นเจ้าภาพในการประชุมวิชาการทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (NatGEN) ครั้งที่ 8 ในรูปแบบการประชุมเสมือน (Virtual conference) เพื่อให้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการนำเสนอผลงานทางวิชาการให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ประเด็นสำหรับผู้ส่งผลงานวิชาการ

การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การศึกษานิเวศวิทยาในด้านต่างๆ นิเวศวิทยาประยุกต์ ทั้งทางด้านป่าไม้ เกษตร และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืน

การศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ถูกกำหนดไว้

การศึกษาผลกระทบและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคุณลักษณะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ

การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การศึกษาศักยภาพในการกักเก็บและดูดกลับคาร์บอน คาร์บอนเครดิต ระบบดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

การเฝ้าติดตามและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยใช้สิ่งมีชีวิตเป็นดัชนีชี้วัด

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อการศึกษาวิจัย ติดตาม และสร้างองค์ความรู้ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

การศึกษาด้านภูมิศาสตร์กายภาพ และภูมิศาสตร์มนุษย์

การจัดการองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในด้านต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ และอากาศ เพื่อให้เกิดการใช้และอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย การควบคุมและติดตามมลพิษสิ่งแวดล้อม อนามัยสิ่งแวดล้อม เคมีสิ่งแวดล้อม จุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อม และแบบจำลองทางสิ่งแวดล้อม

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาแพลตฟอร์ม และแอพพลิเคชัน เพื่อการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การนำเสนอเเบ่งออกเป็นภาคบรรยายและโปสเตอร์ โดย

ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้นำเสนอผลงานเพียง 500 บาท

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการนำเสนอสามารถ ลงทะเบียนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

กำหนดการงานประชุมวิชาการ

วันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ.2567 โดยผู้จัดงานจะแจ้งกำหนดการนำเสนอและลำดับนำเสนอแก่ผู้นำเสนอในภายหลัง

การส่งบทความฉบับเต็ม ทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์ (Full Paper)

สำหรับผู้นำเสนอผลงานเมื่อลงทะเบียนสำเร็จ จะสามารถอัพโหลดบทความฉบับเต็มเพื่อให้ผู้ทรงคุณวุติพิจารณาได้ก่อนวันที่ 6 มกราคม 2567

ประกาศผลการพิจารณาบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิ

ผลงานของท่านจะได้รับการพิจารณาบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิ และจะประกาศผลการพิจารณาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

  • ประกาศผลการตอบรับบทความวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

ส่งบทความฉบับสมบูรณ์

ภายหลังจากการประกาศผลการพิจาณาบทความหากบทความของท่านมีข้อเสนอแนะ หรือคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ผู้นำเสนอแก้ไขบทความให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

  • วันสุดท้ายของการส่งบทความภายหลังการแก้ไข วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

ประกาศผลการตอบรับบทความ

ภายหลังจากการส่งบทความฉบับสมบูรณ์บทความของท่านจะถูกพิจารณาเพื่อตอบรับเข้าสู่งานประชุมวิชาการ และตีพิมพ์ลงในเอกสารสืบเนื่องงานประชุมวิชาการ (Proceeding) ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะยืนยันผลการตอบรับบทความในวันที่ 7 มีนาคม 2567

  • ประกาศผลการตอบรับบทความวันที่ 7 มีนาคม 2567

ชำระค่าลงทะเบียนนำเสนอผลงาน

**ชำระค่าลงทะเบียนสำหรับผู้นำเสนอ (500 บาท/ผลงาน) ให้ดำเนินการในวันที่ 1 - 3 มีนาคม 2567 เท่านั้น ** โดยโอนเงินเข้าบัญชี

  • วันสุดท้ายของการชำระค่าลงทะเบียน (เฉพาะผู้นำเสนอ) วันที่ 3 มีนาคม 2567

ติดต่อเรา

ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่ตั้ง:

มหาวิทยาลัยนเรศวร 99 ม.9 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000

Email:

rangsank@nu.ac.th, gitsadap@nu.ac.th

โทร:

055962757 (สำนักงานเลขานุการภาควิชาฯ)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่